ตาล ของขึ้นชื่อ เพชรบุรี

ตาล ของขึ้นชื่อ เพชรบุรี

ประโยชน์ของตาล

ลูกตาล
     ตาลตัวเมียนั้นจะมี “ลูกตาล” ติดเป็นทะลาย เมื่อยังไม่แก่จัดจนสุกเหลือง ชาวบ้านก็จะตัดลงมาทั้งทะลาย แล้วนำมา “เฉาะ” ที่ละลูก เพื่อให้ได้ “เต้าตาล” หรือ “ลอนตาล” ใน 1 ลูกตาล หรือ 1 ผลตาล จะมีเต้าตาลประมาณ 2-3 เต้า ชาวบ้านจะใช้มีดคม ๆ ถือไว้ในมือขวา มือซ้ายก็จะถือลูกตาลขยับให้พอเหมาะกัน แล้วค่อย ๆ ใช้มีดเฉาะฉับฉับ แงะเปลือกและเนื้อตาลที่แน่นเป็นเนื้อเดียวกันให้แง้มออก เห็นเต้าตาลขาวละอออยู่ข้างใน ใช้ปลายมีดค่อย ๆ แซะเต้าตาลออกอย่างเบามืออย่าให้ปริแตกได้ เพราะเต้าตาล หรือลอนตาลอ่อนนี้ ภายในจะมีน้ำขังอยู่ ยามเมื่อปอกเปลือกเห็นเนื้อลอนตาลใส กระเพื่อมหยุ่นได้ด้วยน้ำขังภายใน ลองป้อนใส่ปากไปทั้งเต้าน้อย ๆ อย่างนั้น ใช้ฟันขบให้น้ำขังลอนตาลแตกซ่าน ภายในปากของเราก็จะได้รสชาติของความนุ่มเนื้อ เจือรสหอมหวานอย่างสุนทรีย์ ราวกับปีนบันไดขึ้นไปฟังเพลงคลาสสิคกระนั้น ลอนตาลนี้ถ้าอ่อน ๆ ก็มักจะนิยมใช้รับประทานกันเล่น ๆ หรือแช่เย็นก่อนให้ชื่นใจ จะให้วิริศมาหราขึ้นก็นำมาหั่นบาง ๆ ใส่น้ำแข็งใสโรยน้ำหวาน และนมข้น นมสด บางครั้งก็นำไปต้มกับน้ำตาลทราย ทำลอนตาลลอยแก้วใส่น้ำแข็งทุบ บ้างก็นำไปใส่รวมกับของอื่น ๆ เป็นรวมมิตรโรยกะทิสด และน้ำแข็งเย็นขื่นใจ

จาวตาล
     เกิดจากผลแก่จัดของต้นตาลตัวเมีย เมื่อผลหล่นลงมาชาวบ้านจะเก็บรวบรวมกองไว้ ต่อมาต้นตาลตัวเมียจะแทงส่วนที่คล้ายรากงอกออกมาลงสู่พื้นดิน เรียกว่า “งอกตาล” ส่วนนี้จะกลายเป็นต้นอ่อนของต้นตาล เมื่อแทงยอดพ้นดินขึ้นมาจะเจริญเติบโตเป็นต้นตาลต่อไป จาวตาลนิยมนำไปเชื่อมรับประทานเป็นของหวาน ในการนี้ จะต้องใช้ความชำนาญผ่าเอาเปลือกแข็งชั้นนอก ซึ่งเปรียบเสมือนกะลามะพร้าวออกก่อน จากนั้นจะต้องผ่าเอาเปลือกชั้นรอง คือส่วนที่เป็นน้ำเพื่อขัดผิวนอกด้วยใบไผ่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ใบซอ เพื่อให้เมือกหรือไคลหมดไปจนขาวสะอาด เมื่อสะเด็ดน้ำแล้ว นำลงกระทะทองเหลืองเชื่อมกับน้ำตาลทาย ต่อไปก็จะได้ “จาวตาลเชื่อม” หรือนิยมเรียกกันว่า “ลูกตาลเชื่อม” การเชื่อมจาวตาลนิยมทำเป็น 2 แบบคือ เชื่อมเปียก จาวตาลจะฉ่ำน้ำตาล หรือเชื่อมแห้ง จาวตาลจะมีเกร็ดน้ำตาลจับแข็ง ซึ่งสะดวกต่อการบรรจุในภาชนะและเก็บได้นาน ถ้านำจาวตาลเชื่อมไปรับประทานพร้อมกับข้าวเหนียวมูนน้ำกะทิ เติมงาคั่วผสมน้ำตาลทราย เกลือป่น และมะพร้าวใย จะได้ขนมอร่อยอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า ข้าวเหนียวโตนด หรือข้าวเหนียวหน้าโตนด หรือข้าวเหนียวลูกตาล นอกจากนี้ เมื่อนำลูกตาลสุกมายีเนื้อสีเหลืองแล้วผสมกับแป้งข้าวเจ้า ตั้งตากแดดไว้สักครู่ใหญ่ เติมน้ำตาลพอควร แล้วนำมาใส่ห่อใบตองหรือใส่กระทง นำไปนึ่งให้สุกในลังถึง หรือหม้อหวด ก็จะได้ขนมเนื้อนุ่มฟูคล้ายขนมเค้ก เรียกว่า “ขนมตาล” นับเป็นขนมอีกอย่างหนึ่งที่เกิดจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน โดยไม่ต้องใช้ผงแป้งฟูแต่อย่างใด

ผลตาล
     หรือลูกตาลที่ยังไม่แก่จัด ถ้านำเอาส่วนของหัวตาลมาปอกผิวนอกออก แล้วหั่นออกเป็นชิ้นบาง ๆ ก็จะได้หัวตาลอ่อนนำไปปรุงเป็น “แกงคั่วหัวตาล” นับเป็นอาหารที่มีรสอร่อยกลมกล่อม แกงหัวตาลจะทำคล้ายแกงคั่ว มีส่วนผสมของกะทิ กระชาย ปลาย่าง ปลากรอบ หรือกุ้งสด แต่ส่วนใหญ่แกงหัวตาลของชาวเพชรบุรีนิยมใช้เนื้อย่าง หรือเนื้อเค็มหั่นบาง ๆ ผสมลงไปพร้อมกันใส่ใบส้มซ่าแทนใบมะกรูด หรืออาจใช้หอยขมมาแกะเนื้อใส่ผสมลงไปด้วย หัวตาล นิยมนำไปลอยน้ำตาลใส โดยตัดเฉพาะส่วนหัวลูกตาลที่ค่อนข้างอ่อนร้อยกับเส้นตอกเป็นพวง ประมาณพวงละ 7-10 หัว แล้วนำไปลอยน้ำตาลใสที่กำลังเคี่ยวเดือดพล่านอยู่ในกระทะ เมื่อสุกดีแล้วจึงนำขึ้นเอาไปรับประทานได้ ผิวนอกของลูกตาล เมื่อเอามีดปาดออกชาวบ้านเรียกว่า “พลอมออก” นิยมนำไปเป็นอาหารสำหรับวัว มีกลิ่นยอมและรสออกหวานเล็กน้อย

เมล็ด
     เมล็ดตาลสุก ถ้านำไปล้างและฟอกให้สะอาด แล้วนำไปตากแห้งจะมีลักษณะฟูฝอยละเอียดสวยงามคล้ายขนสัตว์นิยม นำไปเป็นของเล่นสำหรับเด็ก โดยใช้หวี หรือแปรงจัดรูปทรงได้หลายแบบ สมมติว่าคล้ายช่างทำผม หรือตัดย้อมให้เป็น สีต่าง ๆ นับเป็นของเล่นของเด็กผู้หญิงอีกอย่างหนึ่ง

เปลือก
     เปลือกแข็ง คือส่วนที่เป็นกะลา หลังจากที่ผ่าเอาจาวตาลออกแล้ว นิยมนำไปทำเชื้อเพลิง เมื่อนำไปเข้าเตาเผาจะได้ถ่านสีดำที่มีเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนสูง ปัจจุบันมีผู้รับซื้อถ่านที่ผลิตได้จากเปลือกแข็งของลูกตาลจำนวนมาก เพื่อเป็นสินค้าส่งออก นอกจากนี้ยังใช้เป็นส่วนประกอบของยาแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดกรดในกระเพาะอีกด้วย ในส่วนที่เป็นกะลานั้น หากเลือกลูกที่สวยงามมาผ่าครึ่งเป็นสองฝา นำมาขัดเช็ดถูผิวนอกให้สะอาดเกลี้ยงเกลาจนขึ้นเงา เซาะขอบด้านในของฝาหนึ่งกับขอบนอกของอีกฝาหนึ่ง แล้วแต่งขอบด้านนอกและด้านใน ให้สวมปิดเข้ากันได้สนิทดี ก็ใช้แทนตลับหรือกล่องสำหรับเก็บสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น กระดุม เข็ม ใบจาก เส้นยาสูบ

ใบตาล
     ใบตาลและทางตาล สามารถทำเป็นพัด โดยตัดเจียน แล้วเย็บริมขอบให้เข้ารูป หรืออาจคัดเลือกใบตาลอ่อนแล้วรีดให้เรียบ นำมาจักเป็นใบ ๆ แล้วเย็บเป็นพัดใบตาลแบบพับก็ได้ ซึ่งเหมาะที่จะพกติดตัวไปได้ พัดแบบนี้อาจผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก โดยตกแต่งสีสันให้สวยงาม นอกจากนี้ ใบตาลอ่อนยังสามารถนำมาจักสานทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ สำหรับแขวนให้เด็กดูเล่นได้อีกหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน กุ้ง ตั๊กแตน ชฎา หรือทำเป็นรูปสัตว์ ใส่ขาล้อแบบล้อเกวียนให้เด็ก ๆ ลากเล่น หรือนำมาจักเป็นเส้นตอก ถ้าใช้เส้นใหญ่มักสานขึ้นเป็นรูปกระเช้า ถ้าใช้ตอกเส้นเล็กนิยมสานเป็นกระเป๋าสตางค์ หากตัดใบตาลเป็นท่อนสั้น ๆ สามารถใช้แทนช้อนชั่วคราว เพื่อตักขนมและอาหาร โดยเฉพาะข้าวกระทงที่เคยขายดีขนรถไป นิยมใช้ช้อนใบตาลก่อนที่จะมาใช้ช้อนพลาสติกดังเช่นปัจจุบัน ส่วนใบตาลขนาดใหญ่ นิยมนำมาผ่าซีกแล้วหักงอผูกกับส่วนที่เป็นก้าน เรียกว่า “หักคอม้า” นำไปมุงหลังคา ทำปะรำ มุงกระท่อม หรือโรงนา มีอายุใช้งานประมาณ 2-3 ปี

ทางตาล
     ทางตาล เป็นส่วนของก้านของใบตาล สามารถลอกผิวนอกส่วนที่อยู่ด้านบน เรียกว่า “หน้าตาล” มาฟั่นเป็นเชือกสำหรับผูกวัว ล่ามวัว แม้จะใช้ได้ไม่ทนทานเท่าเชือกที่ทำจากต้นปอหรือต้นเส้ง แต่เหมาะกับการใช้งานที่ต้องตากแดด ตากฝน เพราะมีความชุ่มน้ำ ซึ่งหากใช้เชือกที่ทำจากวัสดุอื่นก็จะเปื่อยผุพังเร็ว ส่วนทางตาลตอนโคน ซึ่งอยู่ติดกับต้นตาลนั้น มีจำนวน 2 แฉก เมื่อทางตาลแก่จัดจนใบแห้งจะร่วงหล่นลงมาเอง ชาวบ้านเรียกส่วนโคนนี้ว่า “ขาตาล” มีลักษณะบาง และแบน จึงเหมาะกับการนำมาตัดใช้เป็นคราด หากต่อด้ามหรือทำเป็นกาบก็จะเรียกว่า “กาบตาล” สำหรับกอบสิ่งของที่เป็นกอง เช่น ใช้กอบมูลวัว กอบขี้เถ้า กอบเมล็ดข้าว เป็นต้น อนึ่ง ขาตาลขณะที่แก่จัดแต่ยังไม่ถึงกับแห้งกรอบ ให้ตัดเฉพาะส่วนที่เป็นขาตาล นำมาทุบด้วยของแข็งหรือสันขวาน จนเส้นใยฟุ้งกระจายดีแล้ว จึงนำแปรงที่ทำจากตะปูแปรงส่วนที่ไม่ต้องการออก จนเหลือแต่เส้นในเป็นเส้นฝอยเรียบวางเรียงเส้นขนานกัน จากนั้นนำไปมัดรวมกันคล้ายมัดวุ้นเส้น หรือเส้นหมี่ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิท แล้วมัดรวมเป็นมัดใหญ่เพื่อส่งจำหน่ายร้านรับซื้อ สำหรับเป็นแปรงหยากไย่ หรือทำไม้กวาด

ลำต้น
     ลำต้นตาล ที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จัดว่าลำต้นแก่พอสมควร สามารถนำเปลือกนอก ซึ่งมีความแข็งและมีเสี้ยนตาลเป็นเส้นสีดำแทรกอยู่ในเนื้อไม้ หากนำมาแปรรูปแล้วจะได้ไม้กระดาน ขนาด 4-6 นิ้ว หรือนำมาประดิษฐ์เป็นเฟอร์นิเจอร์ได้หลายรูปแบบ


ที่มา  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A5

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้